ร้านตัดรองเท้าโดย ช่างทำรองเท้าสไตล์อิตาเลี่ยน แห่งแรกในประเทศไทย

by - พฤษภาคม 25, 2562


บทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับ คุณจุ้ย เจ้าของร้าน Three Shoes โรงงานผลิตรองเท้าโดยคนไทย ซึ่งคุณจุ้ย (ผมขอเรียกว่า พี่จุ้ย) ได้ไปเรียนวิธีการทำรองเท้ามาจาก Stefano Bemer แบรนด์รองเท้าชื่อดังแห่งเมือง Firenze ประเทศอิตาลี่ และเป็นโรงเรียนสอนทำรองเท้าชื่อดังอีกด้วย พี่จุ้ยตั้งเป้าหมายว่าจะนำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาแบรนด์ Three Shoes ให้เป็นแบรนด์สินค้าคุณภาพระดับโลก และทำให้คนไทยได้ใส่รองเท้าไฮเอนด์

ร้าน Three Shoes ที่พี่จุ้ยกำลังดำเนินกิจการอยู่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลทำรองเท้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2516  ซึ่งเป็นตระกูลของชาวจีนเชื้อสายแคะ ที่สืบทอดการทำรองเท้าหนังผู้ชายมานานครับ เมื่อถึงยุคสมัยปัจจุบันที่โลกของการทำรองเท้าได้เปิดกว้างมากขึ้น พี่จุ้ยเองก็อยากจะพาแบรนด์รองเท้าไปสู่ก้าวต่อไปของธุรกิจ พี่จุ้ยเลยตัดสินใจไปเรียนทำรองเท้าที่ประเทศอิตาลี่

พี่จุ้ยไปเรียนที่ Stefano Bemer ประเทศอิตาลี่ โดยใช้เวลาครึ่งปี การเรียนในช่วงแรก จะเกี่ยวเครื่องมือในการทำรองเท้าทั้งหมด และต้องทำด้วยมือทั้งหมด เมื่อเรียนรู้เครื่องมือแล้ว ลำดับต่อไปคือเทคนิคในการทำ เช่น ใช้มีดในการปอกหนัง, การเลือกวัสดุในการทำรองเท้า, หรือสไตล์ของรองเท้าแต่ละประเภท
มีดที่ใช้ ด้านซ้ายของไทย ด้านขวาของอิตาลี่ เทคนิคเหมือนปอกผลไม้แบบหันเข้าหาตัว
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป คือ การลงมือทำจริงและการสะสมประสบการณ์ ซึ่งการทำรองเท้า ช่างทำรองเท้าอิตาลี่จะใส่ใจการทำหุ่นรองเท้าที่สวยงาม (Shoe Last) และการทำพื้นรองเท้าเป็นพิเศษ ดังนั้น การตัดเย็บ (Construction) ของรองเท้าจึงเป็นตัววัดฝีมือช่าง
แผ่นหนังที่แปะอยู่ตรงหุ่นรองเท้า เรียกว่า Insole
ขั้นตอนการทำงานอย่างแรก คือ การนำหุ่นรองเท้าไม้ หรือหุ่นรองเท้าพลาสติก ที่เป็นต้นแบบ มาเติมหรือมาขัด เพื่อปรับให้เข้ากับรูปเท้าของเจ้าของรองเท้า จากนั้นก็ตกแต่งหุ่นรองเท้าจนเนียน เพื่อเตรียมพร้อมหุ่นรองเท้าก่อนนำไปขึ้นเป็นรูปร่าง ซึ่งหุ่นรองเท้าที่พี่จุ้ยใช้จะเป็นหุ่นนำเข้าของอิตาลี่ครับ
ขั้นตอนการเอาแผ่นหนังมาเปลี่ยนเป็น Insole จนส่วนด้านในเป็นส่วนเว้าตามเท้าของคน
หลังจากมีการเหลาหุ่นรองเท้าเสร็จ ก็ต้องมาลองปรับกับเท้าจริงๆ ทำให้มีการวัดรองเท้าไปมาอยู่หลายครั้งจนกว่าจะได้ไซส์ที่เหมาะสม การปรับหุ่นรองเท้าก็ต้องใช้มือค่อยๆเจียจนได้ส่วนโค้งที่เนียนสนิท ดูแล้วไม่ขัดตาครับ
ขั้นตอนการปอกหนังเป็นเพื่อทำเป็นสะพาน เป็นเทคนิคพิเศษจากอิตาลี่
เมื่อได้หุ่นรองเท้าแล้ว ช่างก็จะต้องทำแพทเทิร์นรองเท้าขึ้นมาด้วยตัวเองจากการออกแบบบนหุ่นรองเท้าครับ เพื่อให้แพทเพิร์นรองเท้ามีความสวยงาม จะต้องออกแบบให้พอดีกับเท้าเช่นกัน

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงถัดไป อยากจะให้ทุกคนทำความรู้จักกับคำศัพท์เหล่านี้ก่อน

  • Insole = พื้นในรองเท้า หมายถึงส่วนที่สัมผัสกับเท้าของเราเวลาใส่รองเท้า
  • Outsole = พื้นนอกรองเท้า หมายถึงส่วนที่สัมผัสกับพื้นถนน
  • Welt = คิ้วรองเท้า คือส่วนที่เราเห็นตรงขอบพื้นรองเท้าเวลามองจากด้านบนครับ
  • Upper = ส่วนของด้านบนรองเท้า นับตั้งแต่ Insole ขึ้นไปข้างบน

หนังด้านบนที่ห่อหุ้มหุ่นรองเท้าอยู่ เรียกว่า Upper 
มาดูงานเย็บมือของพี่จุ้ยกันดีกว่าครับ ใต้ Insole ของพี่จุ้ยจะใช้เทคนิคก่อกำแพงขึ้นมา การก่อกำแพงขึ้นมาจะใช้มีดค่อยๆปอกหนังหนาๆ เทคนิคนี้ทำให้เวลาเย็บรองเท้าเสร็จ เราจะมองตะเข็บที่ด้านในรองเท้าไม่เห็นเลยครับ

แต่ละฝีเข็มที่เย็บพื้นจะเย็บในส่วนของ Upper + Insole + Welt เข้าหากัน แต่ละฝีเข็มก็หมายถึงฝีมือช่าง ฝีเข็มของพี่จุ้ยห่างกัน 7 มิลลิเมตร ผมถือว่าละเอียดมากสำหรับหนังที่หนาและแข็งหลายมิลลิเมตร (หากช่างคนไหนฝีเข็มยิ่งละเอียด แต่ละฝีเข็มห่างกันยิ่งน้อยลงแสดงว่าฝีมือยิ่งดี)
หุ่นรองเท้าของทางร้าน เป็นหุ่นทรงอิตาลี่ มีส่วนเว้าส่วนโค้งที่ดู Sexy มาก
เทคนิคของพี่จุ้ย คือ Goodyear welt สไตล์อิตาเลี่ยน คือ การเย็บด้วยมือ (Hand sewing) ซึ่งเทคนิคนี้เป็นของอิตาลี่ ซึ่งจะมีท่าเย็บที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนกางปีก เรียกว่า ท่าผีเสื้อ (Butterfly technique) เหตุผลที่ต้องใช้ท่า Butterfly ในการเย็บรองเท้า เป็นเพราะด้ายที่ใช้เป็นด้ายเทียนที่มีความหนาและแข็ง เย็บเข้ากับพื้นรองเท้าที่หนาและแข็งเหมือนกัน ทำให้ต้องใช้กำลังแขนทั้งหมดในการดึงให้รองเท้าประกอบเข้าด้วยกัน
ท่า Butterfly ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษในการเย็บพื้นรองเท้าครับ
Welt ของอิตาลี่ มีความพิเศษกว่า Welt ของไทย เพราะ ของอิตาลี่จะมี Channel อยู่ที่ด้านล่าง ทำให้เป็นการนำทางฝีเข็มให้ไปในทิศทางเดียวกัน แม่นยำในทุกฝีเข็ม แถมด้วยการตัดส่วนเว้าส่วนโค้งที่ขอบ ทำให้พื้น Outsole และ Welt สบกันพอดี จนทำให้ขอบรองเท้าสวยงามปรานีตมาก
Cap-Toe Oxfords สไตล์อิตาลี่ แพทเพิร์นสวยมาก หุ่นรองเท้าก็สวยมาก
พี่จุ้ยได้เล่าถึงการทำรองเท้าในแบบของไทยถึงความแตกต่าง เช่น

  • Insole ของไทยเป็นกระดาษอัด “จี้เต้” (กระดาษ +ท้อง) ซึ่งจะมีขายแบบสำเร็จรูป ต่างจากการทำ Insole อิตาลี่ที่เอาแผ่นหนังมาปอกจนเป็นรูปร่าง
  • เทคนิคการเย็บรองเท้าของไทย จะไม่ทำกำแพง แต่จะใช้การเย็บด้วยเครื่อง เพื่อติด Upper + Insole + Welt (สำเร็จรูป) + Outsole เข้าด้วยกันเลย เป็นการทำรองเท้าที่ง่าย นิยมทำเป็นโรงงาน กำลังการผลิตดีกว่า แต่อาจจะไม่สามารถเรียกผลงานชิ้นนั้นว่างานศิลปะได้
งานฝีมือของอิตาลี่ ซัพพอร์ที่หัวรองเท้าทำมาจากหนังแท้ ใช่เทคนิคการปอกด้วยมือจนมนเป็นหัวรองเท้า แล้วใช้ค้อนค่อยๆทุบจนเงา ซัพพอร์ทส่วนบริเวณหลังเท้าก็ใช้เทคนิคนี้เช่นกัน ทำให้รองเท้าแข็งแรงและยืดหยุ่นปรับเข้ากับเท้าผู้ใช้ได้อย่างดี (ต้องทำยังไง หรือทุบนานแค่ไหนกัน จะทำให้หนังเข้ารูปได้ขนาดนี้)
การทำซัพพอร์ทส่วนหัวรองเท้าด้วยหนังแท้ เทคนิคจากอิตาลี่แท้
Shank คือชิ้นส่วนที่ทำให้พื้นรองเท้ามันนูนๆขึ้นมาเล็กน้อย มีส่วนช่วยให้ส่วนเว้าส่วนโค้งรองเท้าดูดียิ่งขึ้น  Shank อิตาลี่จะต้องทำด้วยมือด้วยการเอาไม้เจีย และค่อยๆเซาะจนได้เป็นส่วนโค้งตามที่ช่างคำนวณไว้ตามความหนาของพื้นรองเท้า
รองเท้า Cap-Toe Oxford ถ้าหุ่นไม่สวย ทุกอย่างก็จบ แต่หุ่นรองเท้านี้สวยงามมากจริงๆ
เชือกที่ใช้ทำพื้นจะมีการลงแวกซ์และลงน้ำยาให้แข็งแรง สามารถกันน้ำได้ เชือกจะเส้นหนาและแข็งแรงกว่าเส้นด้ายที่ใช้เย็บส่วน Upper นะครับ พื้นรองเท้าในแบบอิตาลี่จึงเป็นพื้นหนังแท้ทั้งหมด ดังนั้น เชือกนี้จึงเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้รองเท้าเป็นรูปเป็นร่าง
เชือกทำรองเท้าเส้นใหญ่ กับเทคนิค Closed Channel ทำให้ไม่เห็นตะเข็บที่พื้นรองเท้า
ส่วนของหนังที่ใช้ทำพื้น Outsole จะหนามาก ผมลองจับและยกดู มันทั้งหนาและหนักเหมือนไม้เลยครับ ความหนา 5.5 มิลลิเมตร! คนทั่วไปเข้าใจว่าพื้นรองเท้าทำมาจากไม้ แต่จริงๆแล้วหนังหนาๆพวกนี้ทำมาจากส่วนของหนังสัตว์ทั้งแผ่น ไม่ผ่านการเจียให้บางเลย ทำให้หนังทำพื้นรองเท้ามีคุณสมบัติที่ทนทาน แต่ก็ยืดหยุ่นตามเท้าของเราหลังจากใช้ไปสักพักครับ
ทรง Split-Toe Derby เข้ากับหุ่นรองเท้าแบบอิตาลี่มากๆ
ในส่วนของ Welt รองเท้า หลังจากที่เย็บเข้ามุมแล้ว จะมีการเอาลูกกลิ้งไปตามขอบ เมื่อมาสังเกตที่ฝีเข็มของพี่จุ้ย ก็มีความถี่คือ 12 ฝีเข็มต่อ 1 นิ้ว แสดงว่า ฝีเข็มของพี่จุ้ยห่างกันประมาณ 2 มิลลิเมตร ตรงส่วนของการเย็บ Welt เข้ากับ Outsole นับเป็นฝีมือการเย็บที่สุดยอดมาก และผมเชื่อว่าในประเทศไทยยังไม่มีใครที่ใช้มือเย็บพื้นรองเท้าได้ด้วยฝีเข็มที่ละเอียดเท่านี้แน่นอนครับ
Closed Channel ไม่เห็นตะเข็บใต้พื้น ส่วนที่นูนขึ้นมาเกิดจาก Shank ด้านในครับ 
ฝีเข็ม 2 มิลลิเมตร งานละเอียดฝีมือพี่จุ้ย
การทำรองเท้าแต่ละคู่ของพี่จุ้ย ผมว่ามันฉีกออกไปจากการทำรองเท้า แต่ผมมองว่ามันเป็นงานศิลปะ ทั้งเทคนิคการทำ, วัสดุ, และทุกขั้นตอนการทำมันเต็มไปด้วยรายละเอียดและความปราณีต รองเท้าที่ทำออกมาก็สวยงามเทียบเท่ากับแบรนด์ระดับโลกหลายๆแบรนด์ที่ผมได้รู้จักเลยครับ
Norwegian welt หรือ Storm Construction พี่จุ้ยก็รู้ว่าต้องทำอย่างไร
Double Stitch แบบใช้เชือก 2 สีสลับกัน งานฝีมือระดับสูง
สำหรับคนที่สนใจรองเท้าหนัง โดยช่างฝีมือคนไทย ที่เรียนมาโดยตรงจากอิตาลี่ ผมแนะนำให้เข้าไปติดต่อกับพี่จุ้ยได้โดยตรงเลยครับ พี่จุ้ยแนะนำว่าให้เข้าไปคุยเป็นคนๆจะทำให้พี่จุ้ยเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถทำรองเท้าที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้ดีกว่าครับ

Facebook Fanpage: THREE Shoes
Instagram: three_shoes

นอกจากบริการตัดเย็บรองเท้าแล้ว พี่เซ้น (น้องชายของพี่จุ้ย) ก็เป็นเจ้าของกิจการร้านซ่อมรองเท้า ชื่อ Three Shoes Repair หากใครต้องการซ่อมรองเท้าแบรนด์นอกที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ ก็สามารถสอบถามไปทางเฟซบุ๊คของทางร้านได้เลยครับ

You May Also Like

1 ความคิดเห็น